วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

อบรมปฏิบัติการ "พัฒนาทักษะการคิดตามหลักสูตรแกนกลาง"

             กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลฯ สพป.รบ.1 จัดอบรมปฏิบัติการการนำแนวทางการจัด การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดตามหลักสูตรแกนกลาง สู่การปฏิบัติ ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้เมื่อวันที่  16-17 กันยายน 2553  โดยผู้ที่เข้ารับการอบรมเป็นครูจากโรงเรียนต้นแบบการใช้หลักสูตรฯจำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนคุรุราษฎร์ฯ  โรงเรียนอนุบาลราชบุรี และ โรงเรียนวัดเขาวัง เนื้อหาของการอบรมเกี่ยวกับ  ทักษะการคิดสู่การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน   การสร้างความตระหนักการเรียนรู้ในกลุ่มสาระต่างๆ และจำนวนมาตรฐานการเรียนรู้รวมถึงตัวชี้วัด การวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิด การทำหน่วยการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการคิด  เป้าหมายของการอบรมดังกล่าวเพื่อให้ครูได้พัฒนานักเรียนให้มีทักษะการคิด  ซึ่งจำเป็น

จะต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กต่อไป

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

นิเทศติดตามโครงการพัฒนาสู่ประชาคม ASEAN

           เมื่อวันที่ 13  กันยายน 2553  คณะกรรมการโครงการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียนของสพท.รบ 1ได้ติดตามการดำเนินงานหลังจากที่โรงเรียน Buffer School  ดำเนินงานเกือบครบกิจกรรมที่กำหนดไว้ คณะกรรมการที่ไปมีที่ปรึกษาโครงการของโรงเรียนบ้านตะโกล่าง คืออาจารย์สุวรรณา ไชยวัฒนานนท์ และศึกษานิเทศก์ของเขตคืออาจารย์สมฤดี ประเคนรี และอาจารย์ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์หรับ ทั้งสองโรงเรียนคือโรงเรียนสวนผึ้งวิทยาและโรงเรียนบ้านตะโกล่าง กำลังดำเนินงานสรุปผลการทำกิจกรรมในแต่ละกิจกรรม  การจัดทำข้อมูลสารสนเทศ การจัดทำเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอาเซียนศึกษา โดยเฉพาะเอกสารสำคัญคือหลักสูตรสถานศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะของเรื่องอาเซียน

สำหรับลักษณะทางกายภาพของศูนย์อาเซียนมีความพร้อมในเรื่องต่างๆแล้วไม่ว่าจะเป็นวัสดุอูปกรณ์  เอกสารและหนังสือเกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งมากเพียงพอที่จะให้บริการแก่ครู นักเรียน  ชุมชน  ทั้งในโรงเรียนและโรงเรียนที่เป็นเครือข่าย  คณะที่ไปนิเทศได้ให้การยกย่องชมเชยในความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการทำงานเกี่ยวกับเรื่องอาเซียนที่มีผู้อำนวยการของโรงเรียนสวนผึ้งวิทยาและโรงเรียนบ้านตะโกล่าง พร้อมบุคลากรของทั้งสองโรงเรียนคอยดำเนินการและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมายของงาน

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

นิเทศและติดตามการดำเนินงานการพัฒนาประชาคมสู่อาเซียน Sprit of ASEAN


              เมื่อว้นที่ 25 สิงหาคม 2553 คณะทำงานโครงการพัฒนาประชาคมสู่อาเซียนของสพฐ.ได้มาติดตามการดำเนินงานของสพท.รบ.1ทางโรงเรียนสวนผึ้งวิทยาและโรงเรียนบ้านตะโกล่าง

ซึ่งการดำเนินงานทำได้ในหลายประการ อย่างเช่น ขณะนี้มีศูนย์อาเซียนศึกษาอยู่ในโรงเรียน มีการสอนภาษาพม่าที่เป็นภาษาอาเซียน เพราะ สพท.รบ.1 มีชายแดนติดกับพม่า  ในด้านการจัดการเรียนการสอนมีการนำเนื้อหาเกี่ยวกับอาเซียนไปบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8กลุ่มสาระ  จัดทำเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น ชุมนุม ค่ายเยาวชนอาเซียน มีการจัดกิจกรรมเสริมและจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนและมีการบริการสื่อการเรียนรู้ภายในโรงเรียนและโรงเรียนเครือข่ายอาเซียนศึกษา ตลอดจนจัดการเรียนรู้เคลื่อนที่ให้กับโรงเรียนเครือข่ายอาเซียนและต่อไปก็จะมีกิจกรรมที่เพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาสู่ประชาคมาอาเซียน

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อบรมครูปฐมวัยเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของสมอง

                   การพัฒนาครูปฐมวัยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะถ้าต้องการให้เด็กไทยมีคุณภาพในอนาคต  เพราะการศึกษาปฐมวัยเป็นรากฐานของชีวิตมนุษย์  ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีมาก  ความรู้เกี่ยวกับสมองมีเพิ่มขึ้นแต่เราจะนำสิ่งที่เรารู้เพิ่มขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร   หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัยได้ดำเนินงานพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้กับครูอย่างต่อเนื่อง  เช่น สพท.ระยอง เขต 1  ได้เชิญไปเป็นวิทยากรในวันที่ 1-2  เมษายน 2553  และสพท.เพชรบุรี  เขต 1  ได้เชิญไปเป็นวิทยากรในวันที่  30 กรกฎาคม 2553 การทำงานอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการให้ความรู้ที่ถูกต้องในการอบรมเลี้ยงดูเด็กเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคงจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร  เราจะต้องให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันพัฒนาเด็กไทยอย่างจริงจัง  และถูกต้องกันเสียที  ไม่เช่นนั้นเด็กไทยเราคงจะมีคุณภาพลดลง  ตามเหตุและปัจจัยที่เราเห็นกันอยู่  ขณะเดียวกันสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ  ก็คงทำหน้าที่พัฒนาครูปฐมวัยอย่างเข้มแข็ง  และอย่างต่อเนื่อง

ตลอดไป

การเปิดศูนย์อาเซียนศึกษาที่โรงเรียนสวนผึ้งวิทยาและโรงเรียนบ้านตะโกล่าง

                        สพท.รบ. 1  มีพิธีเปิดศูนย์อาเซียนศึกษาที่โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา    และโรงเรียน
บ้านตะโกล่างอย่างเป็นทางการแล้ว   ที่โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา เปิดเมื่อวันที่  6 สิงหาคม  2553
โรงเรียนบ้านตะโกล่างเปิดเมื่อวันที่   11  สิงหาคม  2553  ศูนย์อาเซียนศึกษา คือศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นในโรงเรียนที่เป็น SisterSchool   และโรงเรียน  Buffer School  สำหรับโรงเรียนทั้งสองเป็นโรงเรียน 
ประเภทBufferSchool

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

นวัตกรรมการเล่นเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เด็กปฐมวัย

             มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  โดยคณะครุศาสตร์ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  ได้จัดบริการ
วิชาการแก่ชุมชนและสังคม  มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาการศึกษาปฐมวัยในท้องถิ่น   คณะอาจารย์
พร้อมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจึงได้จัดอบรมบุคลากรซึ่งเป็นครูปฐมวัย  และผู้ปกครองให้กับสพท.
รบ.  1 และ 2  เมื่อวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2553  ณ  โรงเรียนอนุบาลราชบุรี   คณะวิทยากรได้เสนอ
องค์ความรู้ ด้านนวัตกรรมการเล่นเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เด็กปฐมวัย   โดยเฉพาะในวันที่ 31 กรกฎาคม
2553   เป็นการอบรมที่ผู้ปกครองพร้อมนำเด็กมาด้วย  มีการจัดกิจกรรมเป็นฐานให้เด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมศิลปะ   การเล่นเกม   การเล่านิทาน  เป็นต้น   สำหรับกิจกรรมศิลปะเด็กทำกิจกรรมอย่างมีความสุข  เพราะได้ประดิษฐ์   ได้ระบายสี  ส่วนการเล่นเกมเด็กได้เล่นเกมที่พี่ๆ  นักศึกษาจัดเกมการละเล่นไทยให้น้องๆ เล่นอย่างสนุกสนาน   นับเป็นการบริการสังคมที่ให้ประโยชน์เป็นอย่างมาก

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ครูปฐมวัยสพท.รบ. 1 ดูงานที่โรงเรียนอนุบาลจารุวรรณ (ซอยรามอินทรา 55)

                 ครูปฐมวัยซึ่งเป็นครูต้นแบบของสพท.รบ. 1 ได้ไปดูงานการจัดการศึกษาปฐมวัยของ
โรงเรียนอนุบาลจารุวรรณ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม  2553 มีดร. ธัญรัศม์  นิธิกุลธีระภัทร์  เป็นผู้อำนวยการ
การไปครั้งนี้ได้เห็นจุดเด่นของโรงเรียนคือ    โรงเรียนยึดปรัชญาการศึกษาที่เน้น การพัฒนาผู้เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้พหุปัญญา เน้นการทำงานของสมอง  และบูรณาการแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนารูปแบบดังกล่าวตั้งแต่ปีการศึกษา 2545-2547  ระยะแรกได้ร่วมดำเนินการในฐานะโครงการวิจัยย่อย  1  ใน 49 โครงการ  ของโครงการ วพร.   วันที่ไปดูงานมีกิจกรรมที่แสดงถึงการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์กับการเรียนการสอน   ได้เห็นเด็กเล็กๆ ฝึกการนำของที่ตน
เองใช้แล้วมาแลกเปลี่ยนกัน   การจำลองสถานการณ์ให้เป็นตลาดที่มีการซื้อ การขายของต่างๆ
ในราคาประหยัด     เป็นกิจกรรมที่ง่ายๆ แต่ได้ผลมากมาย    กิจกรรมต่างๆที่ได้สัมผัสในการดูงาน
ครั้งนี้  เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ   ไม่ว่าจะเป็นดนตรี  ยิมนาสติค  ศิลปะ
ภาษา  ฯลฯ   นอกจากนั้นยังได้เห็นการจัดบรรยากาศที่ดีที่เอื้อต่อการเรียนรู้ คือโรงเรียนมีลักษณะ
คล้ายบ้าน   มีแหล่งเรียนรู้อย่างหลากหลาย   ทุกคนกล่าวว่ามาที่โรงเรียนนี้แล้วได้ผลคุ้มค่า   ได้
แนวคิดหลายอย่างที่จะได้กลับไปทำต่อไป

อบรมบุคลากรต้นแบบการศึกษาปฐมวัยของสพท.รบ.1

              การอบรมบุคลากรต้นแบบการศึกษาปฐมวัยซึ่งได้แก่  ผู้บริหาร  ครูผู้สอนปฐมวัยในโรงเรียน
ศูนย์เด็กปฐมวัยต้นแบบและเครือข่าย  โดยสพท.รบ.  1    ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ที่สอดบ้องกับพัฒนาการทางสมองของเด็กปฐมวัย  เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้พัฒนาทางด้านร่างกาย  อารมณ์
จิตใจ  สังคม และสติปัญญา  อย่างเต็มศักยภาพ   จึงได้ดำเนินการอบรมบุคลากรต้นแบบการศึกษา
ดังกล่าวในวันที่ 9- 10  สิงหาคม  2553   ที่ห้องประชุมโรงเรียนอนุบาลราชบุรี    มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริม
สนับสนุนให้โรงเรียนที่เป็นศูนย์เด็กปฐมวัยต้นแบบและเครือข่าย  ได้มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมองของเด็กปฐมวัย     มีการต่อยอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้  มีเจตคติที่ดีต่อการนำความรู้เรื่องสมองสู่การปฏิบัติ   และสามารถนำความรู้ที่สอดคล้อง
กับสมองไปสร้างองค์ความรู้  ตลอดจนพัฒนางานวิจัยด้านการศึกษาปฐมวัยต่อไป

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อบรมเชิงปฏิบัติการการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสมอง( BBL)

            เมื่อวันที่ 21-22 กรกฎาคม  2553   สพท.รบ.1  ได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรในโรงเรียนที่จัด
การศึกษาปฐมวัย ซึ่งยังไม่ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอก  ระดับปฐมวัย รอบที่ 2 จากสมศ. การจัด
อบรมดังกล่าวเพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ  พัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพโดย
พัฒนาอย่างเป็นองค์รวม  สอดคล้องกับมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตรการศึกษา
ปฐมวัยด้วยการใช้หลักการ  ทฤษฎีความรู้เรื่องสมองมาใช้ในการพัฒนา  เป้าหมายคือให้โรงเรียนที่
กล่าวข้างต้นดำเนินการจัดการศึกษาปฐมวัยสู่มาตรฐาน    ทั้งในส่วนของการพัฒนามาตรฐานด้าน
นักเรียน   มาตรฐานด้านครูผู้สอน   และมาตรฐานด้านผู้บริหาร    โดยเฉพาะในด้านนักเรียน  เป็น
การอบรมในเชิงปฏิบัติการให้ฝึกการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่นำความรู้เรื่องสมอง มาออก
แบบการจัดกิจกรรม  เช่น  การสอนแบบ Project  Approach   เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อบรมเชิงปฎิบัติการการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมว้ย

                 การอบรมเชิงปฎิบัติการการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับครูที่
สอนเด็กปฐมวัย  ของเขตพื้นที่การศึกษา 1 และ 2  ได้จัดเมื่อวันที่  21-22  มิถุนายน 2553 ณ บ้าน
สวนส้มทิพย์รีสอร์ท  อ.วัดเพลง  การจัดการอบรมดังกล่าวเพื่อให้ครูแกนนำด้านการศึกษาปฐมวัย มีความรู้ มีเจตคติ  และมีทักษะในการจัดประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์  การอบรมเน้นการทดลอง
และปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์     แบ่งผู้เข้าอบรมเป็นกลุ่มมีทั้งหมด  8  กลุ่ม  แต่ละกลุ่มเวียนกัน
เข้าฐานการอบรมซึ่งมีอยู่   8 ฐานเช่นเดียวกัน      เช่น  ฐานเกี่ยวกับหอยทาก   ฟองสบู่   ใบไม้
ลม    ดิน  เป็นต้น  เพื่อให้ครูได้ทดลองทำและปฎิบัติ แล้วนำเทคนิควิธีการ  ไปใช้จัดประสบการณ์
ให้กับเด็กปฐมวัย   โดยเด็กได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ต่อไป

บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย

              เมื่อวันที่  25 เดือนมิถุนายน  และวันที่  3 กรกฎาคม 2553  ได้ไปเป็นวิทยากรการอบรมให้ความรู้ครู  และผู้ปกครองนักเรียนชั้นอนุบาล ของโรงเรียนวัดอมรญาติสมาคม  และโรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บำรุง
เจริญธรรม   ผู้บริหารของทั้งสองโรงเรียนมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาปฐมวัยให้มีคุณภาพและ
ผู้ปกครองของทั้งสองโรงเรียนสนใจ   เข้ามาร่วมกิจกรรมที่จัดเป็นจำนวนมาก  มีการซักถาม
และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลายประเด็นเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานของเขา  ถ้าโรงเรียน
บ้าน  ชุมชนร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นแล้ว  ความหวังของการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยในแนวทางที่
ถูกต้องคงจะเป็นไปได้  เพราะการจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นการศึกษาที่จัดให้แก่เด็กที่ผู้สอนและพ่อแม่
ผู้ปกครองต้องสื่อสารกันตลอดเวลา  เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและพร้อมร่วมมือกันในการจัดการศึกษา
ให้เด็ก และที่สำคัญพ่อแม่จะต้องมีบทบาทและหน้าที่เช่นเดียวกัน  เช่น ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของ
สถานศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา  ที่สำคัญต้องอบรมเลี้ยงดู เอาใจใส่ให้ความรัก  ความ
อบอุ่น ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆ  ของลูกหลาน  ฯลฯ

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อบรมพ่อแม่ผู้ปกครองกับครูชีวัน วิสาสะ

                   ครูชีวัน  วิสาสะ  ผู้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหนังสือเด็ก  ทั้งการแต่งหนังสือนิทาน การทำสื่อ
ประกอบการเล่านิทาน  ได้มาอบรมพ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กปฐมวัยในเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 และเขต 2 จำนวน 200 คน  ณ  โรงเรียนอนุบาลราชบุรี   เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน  2553 ครูชีวันได้นำเสนอกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก  เสนอแนะการทำสื่อประกอบการเล่านิทานอย่างง่ายๆ  แต่มีคุณค่าและมีประโยชน์   โดยทีมงานนิตยสาร   Mother & Care ได้เตรียมอุปกรณ์   มาให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนได้ร่วมทำสื่อ    เช่น  หนังสือนิทานเล่าเรื่อง  ตา ยายปลูกถั่ว ปลูกงาให้หลานเฝ้าซึ่งเป็นเรื่องแต่ดั้งเดิมแต่ยังมีคุณค่าอยู่     การสาธิตการพับอุปกรณ์ ตัวละคร  สัตว์  ในนิทาน  ที่เล่าให้เด็กฟัง    กิจกรรมต่างๆ ทำให้พ่อ  แม่  ผู้ปกครองประทับใจ   ได้เกิดความตระหนักในการร่วมมือกันส่งเสริมการรักการอ่านโดยการเล่านิทานให้กับเด็กปฐมวัยได้ฟังตั้งแต่ยังเล็กอยู่     การอบรมดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง  ควรที่จะให้ผู้ที่พ่อ แม่  ผู้ปกครองทุกคนได้ตระหนัก และนำไปปฏิบัติกับลูกหลานของเราให้ได้

อ่าน เล่น เรียนรู้ ตามสมรรถนะเด็กไทย

          เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553  ที่โรงเรียนอนุบาลราชบุรี มีการอบรมครูปฐมวัย ของสพท. รบ. 1
 และ 2   จำนวน  200  คน  โดยสภาการศึกษา    มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก     T. K.PARK   และนิตยสาร  Mother& Careได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเด็กไทยตามสมรรถนะที่สภาการศึกษาได้ทำการวิจัยไว้     จึงจัดอบรมครูเพื่อจัดกิจกรรมอ่าน เล่น ให้เด็กไทยมีสมรรถนะด้านต่างๆ    มีรศ. ดร.จิตตินันท์  เดชะคุปต์
แห่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  เป็นวิทยากรให้การอบรม  พร้อมคณะทีมงานที่มีคุณสรวงมนฑ์
สิทธิสมาน  บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother & Care เป็นหัวหน้าทีมงาน     การอบรมที่จังหวัด
ราชบุรีเป็นจุดแรกของการอบรม    ส่วนจุดอื่นๆของประเทศไทยก็จะไปที่ เชียงราย   อุบลราชธานี
นครสวรรค์ และสุราษฎ์ธานี    การอบรมทำให้ได้ประโยชน์หลายอย่าง  ในด้านความรู้เกี่ยวกับการ
อบรมเลี้ยงดูแล้วส่งผลให้ครูมีความมั่นใจต่อการเตรียมความพร้อมให้เด็กพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม
ได้เห็นความสำคัญและประโยชน์อย่างมหาศาลของการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง   การเล่านิทานให้
เด็กตั้งแต่เล็กๆ    เป็นต้น   ถือว่าเป็นก้าวหนึ่งที่ทำให้กับเด็กปฐมวัยได้พัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
ในอนาคต

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กิจกรรมศูนย์อาเซียนศึกษา : โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา

         ขณะนี้โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา ได้ดำเนินกิจกรรมศูนย์อาเซียนศึกษาไปได้หลายกิจกรรมแล้ว
อย่างการเรียนการสอนในทุกชั้นเรียน   โดยการจัดรายวิชาเพิ่มเติมเรื่องอาเซียนศึกษา  การบูรณา
การอาเซียนศึกษาในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ 
เป็นต้น  กิจกรรมที่เด็กมีความสนใจคือ มีการสอนภาษาต่างประเทศที่สามคือ ภาษาพม่า ให้กับ
นักเรียน  ซึ่งทางโรงเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจ้างครูมาสอนให้กับเด็ก   สำหรับ
ต้นเดือนที่ผ่านมา  วันที่ 10-12  มิถุนายน  2553  ณ  โรงแรมเอเซีย  แอร์พอร์ต  ปทุมธานี  ทางโรงเรียนได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาในโครงการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน  มีโรงเรียนเข้าร่วมประชุมทั้งหมด  54  โรงเรียน   ได้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ในกิจกรรมที่ได้ทำไปแล้ว  และได้แนวคิดที่จะทำต่อไป   โดยเฉพาะการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่นำเอาเรื่องอาเซียนศึกษาเข้าไปในหลักสูตร   การจัดทำโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับครู  นักเรียน  ชุมชน ทั้งของโรงเรียนเอง  และโรงเรียนเครือข่าย  ตลอดจนโรงเรียนทั่วไป

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กิจกรรมของ Buffer School : โรงเรียนบ้านตะโกล่าง

              โรงเรียนบ้านตะโกล่าง  อำเภอสวนผึ้ง  ของจังหวัดราชบุรี  เป็นโรงเรียนที่ดำเนินการ
โครงการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน  กิจกรรม Buffer School  ขณะนี้มีกิจกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจ
ในเรื่องเกี่ยวกับอาเซียนศึกษา  โดยเฉพาะการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียน  ที่สอดคล้อง
กับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พ.ศ.2551  คือมีการทำรายวิชาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง
อาเซียนศึกษา มีการนำเรื่องอาเซียนศึกษาไปบูรณาการกับกลุ่มสาระต่างๆ   ตลอดจนนำไป
จัดทำในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน    สำหรับเรื่องอาเซียนศึกษาในปัจจุบันและในอนาคต  ประเทศไทย
จะต้องเข้าไปร่วมมือและเกี่ยวข้องกับอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้     เราจะต้องเตรียมเด็กไทยให้
พร้อมในเรื่องดังกล่าว  เมื่อวันที่ 10 -12  มิถุนายน 2553  ผู้อำนวยการโรงเรียน คือผอ.เฉลียว
เถื่อนเภา   พร้อมด้วยบุคลากรของโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รวม 3 คน  ได้ไปประชุมสัมมนา
ที่โรงแรมเอเซีย  แอร์พอร์ต  ปทุมธานี   มีกิจกรรมที่นำเสนอในที่ประชุมทั้งที่ทำไปแล้ว  และที่จะ
ทำต่อไป ได้แก่ กิจกรรมร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติพันธุ์อาเซียน (พม่า มอญ  กะเหรี่ยง)    
กิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ไทย -พม่า   กิจกรรมค่ายลูกเสืออาเซียน   เป็นต้น   คาดว่าในปี  พ.ศ. 2553  นี้โรงเรียนบ้านตะโกล่างคงจะเป็นแหล่งการเรียนรู้หรือศูนย์อาเซียนศึกษาที่จะทำให้เด็กนักเรียน  ครู  ประชาชน  ทั้งของโรงเรียนบ้านตะโกล่างและโรงเรียนเครือข่าย  ตลอดจนโรงเรียนทั่วไปได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องอาเซียนศึกษาได้อย่างมีคุณค่า

วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การประชุมสัมมนาชี้แจงการดำเนินงานโครงการพัฒนาประชาคมสู่อาเซียน

         ในวันที่ 10 - 12  มิถุนายน   2553   โรงเรียนในโครงการพัฒนาประชาคมสู่อาเซียน  ของสพท.รบ 1
ที่เป็นโรงเรียน Buffer School  คือโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา  และโรงเรียนบ้านตะโกล่าง  ได้เข้าร่วมประชุม
สัมมนาโครงการดังกล่าว ที่โรงแรมเอเซีย  แอร์พอร์ต  รังสิต ปทุมธานี การประชุมสัมมนาครั้งนี้
มีที่ปรึกษาโครงการเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก  ที่ปรึกษาของโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา    และโรงเรียน
บ้านตะโกล่าง  เป็นบุคคลที่มีคุณภาพและ อดีตเป็นข้าราชการ ของกระทรวงศึกษาธิการทั้งสองท่าน
โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา คือ ผศ.  เทวี  สวรรยาธิปัติ   มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง  และโรงเรียน
บ้านตะโกล่างคือ อาจารย์สุวรรณา  ไชยวัฒนานนท์  ศึกษานิเทศก์  9 สำนักงานการประถมศึกษา
จังหวัดราชบุรี     ประเด็นสำคัญในเรื่องอาเซียนสำหรับการประชุมครั้งนี้คือ  การชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ
ของอาเซียนที่คนไทยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ  การตระหนักในความสำคัญของอาเซียน   การปฏิบัติตน   ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียน  สำหรับโรงเรียนในโครงการ ผลที่เกิดกับเด็ก 
ครู   ประชาชนในโรงเรียน  และโรงเรียนเครือข่าย   จะต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร
           ก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ดังนี้
                ความเข้าใจในเรื่องประชาคมอาเซียน  
                ยุทธศาสตร์ประเทศไทยในประชาคมอาเซียน
                อิทธิพลของกระแสโลกกระทบทั้งอาเซียนและประเทศไทย
                กระแสโลกาภิวัตน์
                เศรษฐกิจในอนาคต    สังคมโลกในอนาคต
                การรวมตัวของประเทศต่างๆ
                เป้าหมายของอาเซียน
                คุณลักษณะของเด็กไทย
                          ฯลฯ
          ประเด็นที่สำคัญที่จะต้องช่วยกันทำให้สำเร็จคือ  การพัฒนาการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน 
เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันทำให้สำเร็จ             

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ข้อคิดเรื่องการอ่าน เขียนส่งเสริมคุณภาพเด็กไทย

       เราจะทำให้เด็กไทยรักการอ่าน เขียน ได้อย่างไร คงเป็นภาระหน้าที่ของพวกเรา  ที่สอนเด็ก
ตั้งแต่ระดับปฐมวัย  ประถม ตลอดจนถึงในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งแต่ระดับมีเทคนิคและวิธีการที่
แตกต่างกัน   จะขอกล่าวถึงประเทศเกาหลีใต้ที่กำลังก้าวไกลด้วยการพัฒนาเด็กด้วยพลังการอ่าน
เขียน  ผู้อำนวยการสถาบันการแปลวรรณกรรมเกาหลี  กล่าวว่า วัฒนธรรมการอ่านของเกาหลีใต้
เข้มแข็งมาก เพราะเชื่อว่าการอ่านย่อมส่งผลถึงสติปัญญา ซึ่งสติปัญญาคือพลังในการพัฒนา
ประเทศ  สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้อย่างชัดเจนคือ  คนเกาหลีใต้ใช้ทุกช่วงเวลาว่างอ่านหนังสือ จะนั่ง
ในรถไฟฟ้า  ร้านกาแฟ  ป้ายรถเมล์ แทบทุกคนจะพกหนังสืออยู่ในมือ  ยิ่งถ้าเป็นร้านหนังสือใหญ่ๆ
 จะเห็นแต่ละคนคล้องตะกร้าใบใหญ่ไว้ที่แขนและเลือกซื้อหนังสือราวกับซื้อของในซุปเปอร์มาเก็ต
ส่วนการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย  จะบังคับให้เด็กอ่านวรรณกรรมหนักๆ  ทั้งของต่าง
ประเทศและในประเทศเป็นหนังสือนอกเวลาตั้งแต่เด็ก  แล้วถ้าอยากเข้าเรียนต่อไม่ว่าจะคณะไหน
ก็ตามในมหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ นอกจากตำราเรียนแล้ว  ต้องขยันอ่านวรรณกรรมทั้งร้อยแก้ว  และ
บทกวีด้วย โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะมีรายชื่อหนังสือที่ต้องอ่านมาให้ 5 เล่ม เพราะในการสอบ
เข้าจะมีการเขียนเรียงความในหัวข้อวิจารณ์วรรณกรรม  1 ใน 5 เล่มนั้น  ฉะนั้นการจัดกิจกรรม
การเรียนการสอนของเรา   ควรจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนให้เด็กของเรามีพฤติกรรมการ
รักการอ่านซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนต่อไป

วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โรงเรียนเครือข่ายของศูนย์อาเซียนศึกษา

           โครงการพัฒนาประชาคมสู่อาเซียน  ของ สพท รบ 1  เป็นการดำเนินการในช่วงปี   พ.ศ.  2553-2555     ขณะนี้มีโรงเรียนในเครือข่ายประชาคมอาเซียน อยู่ทั้งหมด  17 โรงเรียน  แยกเป็นเครือข่าย
ของศูนย์อาเซียนศึกษาโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา จำนวน 9  โรงเรียน   และศูนย์อาเซียนศึกษาโรงเรียน
บ้านตะโกล่าง จำนวน   8  โรงเรียน มีรายชื่อโรงเรียน ดังนี้
            ศูนย์อาเซียนศึกษาโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา  โรงเรียนที่เป็นเครือข่าย ได้แก่
                    -โรงเรียนคุรุราษฏร์รังสฤษฎ์
                    -โรงเรียนบ้านคาวิทยา
                    -โรงเรียนด่านทับตะโกราษฎร์อุปถ้มภ์                   
                    -โรงเรียนปากท่อพิทยาคม
                    -โรงเรียนบรมราชินีนาถราชวิทยาลัย
                    - โรงเรียนวัดสันติการามวิทยา
                    - โรงเรียนอนุบาลสวนผึ้ง
                    - โรงเรียนรุจิรพัฒน์
                    -โรงเรียนธรรมศาสตร์-จุฬา  2

              ศูนย์อาเซียนศึกษาโรงเรียนบ้านตะโกล่าง  โรงเรียนที่เป็นเครือข่าย ได้แก่
                     -โรงเรียนอนุบาลบ้านคา
                     -โรงเรียนสินแร่สยาม
                     -โรงเรียนบ้านหินสี
                     -โรงเรียนบ้านทุ่งศาลา
                     -โรงเรียนบ้านสวนผึ้ง
                     - โรงเรียนวัดนาขุนแสน
                     - โรงเรียนบ้านท่ามะขาม
                     - โรงเรียนวัดหนองพันจันทร์
             โรงเรียนเครือข่ายทั้งหมดจะได้มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ ในเรื่องอาเซียนศึกษา  อันจะทำให้
นักเรียน  ครู ชุมชนรอบโรงเรียนมีความรู้เรื่องอาเซียน  พัฒนาประชาคมสู่อาเซียน
 .

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การสอนหลักสูตรการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย วิธีเรียนทางไกล

        สถาบัน กศน.ภาคกลาง  ได้เชิญศึกษานิเทศก์ของสพท.รบ 1 คือนางสาวดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์
และครูโรงเรียนอนุบาลราชบุรี คือนางสาวอุทัย  ธารมรรค ไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับนักศึกษา
หลักสูตรการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย  วิธีเรียนทางไกล   รุ่นที่ 1/2553 จำนวน  14 คน    ลักษณะของการ
อบรมเป็นการสัมมนาวิชาชีพฯ และปัจฉิมนิเทศนักศึกษาทางไกล ก่อนจบหลักสูตร  จัดในช่วงของภาคฤดูร้อน   เป็นหลักสูตรที่มีความสำคัญ  สำหรับให้ความรู้กับบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีความรู้เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก  การเรียนสามารถเรียนรู้ได้เองที่บ้าน  ค่าใช้จ่ายไม่แพง  ไม่ต้องเสียเวลามาเรียน
ก่อนจบมีการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้   ประสบการณ์ และได้ฝึกปฏิบ้ติกิจกรรมการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
จากการไปครั้งนั้นได้แลกเปลี่ยนความรู้กับ บุคลากรหลายสาขาที่มีความสนใจเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดู
เด็ก นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้เข้ารับการสัมมนา   แต่ยังมีข้อจำกัดคือยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับหลักสูตรดังกล่าว    ซึ่งทางสถาบันจะได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้มากยิ่งขึ้นต่อไป

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ศูนย์อาเซียนศึกษา : บุคลากรที่ควรรู้จัก

        ในโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา และโรงเรียนบ้านตะโกล่างซึ่งเป็น Buffer School ในปีการศึกษา 2553 จะ
มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียน ที่เรียกว่าศูนย์อาเซียนศึกษา  และมีคำศัพท์ที่ใช้ในการเรียกบุคลากรประเภทต่างๆ ในการดำเนินงาน  สำหรับคำศัพท์ที่ใช้กันนั้น  พอจะสรุปให้เข้าใจได้คือ
       Buffer School คือ โรงเรียนที่จัดการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และมีศูย์อาเซียนศึกษา เน้น
การเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เทคโนโลยี และภาษาอาเซียนอีก 1 ภาษา (สพท. รบ. 1 คือ ภาษาพม่า)
       ศูนย์อาเซียนศึกษา คือ ศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นในโรงเรียน Buffer School  เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ จัดกิจกรรม
สร้างความตระหนักเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน สำหรับครู นักเรียน รวมถึงชุมชนที่รายรอบโรงเรียน และ
โรงเรียนเครือข่ายให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน และพัฒนาเยาวชนไทยให้มีสมรรถนะที่สำคัญ
สำหรับการดำเนินชีวิตในประชาคมอาเซียน
        ที่ปรึกษาของศูนย์อาเซียนศึกษา  คือบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับ
อาเซียนศึกษา  การจัดกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาครู การบริหารจัดการโครงการ และสามารถใช้
ภาษาอังกฤษ และภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มอีก 1 ภาษา รวมทั้งใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร
และสารสนเทศ ในการสืบค้นและการสื่อสารกับประเทศในประชาคมอาเซียน
        เจ้าหน้าที่ปรจำศูนย์อาเซียนศึกษา  คือ บุคคลที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ
การใช้ภาษาอังกฤษ และหรือภาษาของประเทศประชาคมอาเซียนในการสื่อสาร  ทำหน้าที่สร้างความตระหนักเกี่ยวกับการเตรียมคนสู่ประชาคมอาเซียน  จัดกิจกรรมการเผยแพร่ความรุ้และสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนให้กับโรงเรียนที่เป็นที่ตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา โรงเรียนเครือข่ายอาเซียนศึกษา
ประชาชนในพื้นที่
         ครูผู้รับผิดชอบศูนย์อาเซียนศึกษา  คือ ครูปฏิบัติการสอนในโรงเรียนที่เป็นศูนย์อาเซียนศึกษา
มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ  การใช้ภาษา
อังกฤษและหรือภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียนในการสื่อสาร  ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้บริหาร
โรงเรียนให้ทำหน้าที่ประสานงาน  เป็นพี่เลี้ยง  และกำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์
อาเซียนศึกษา

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

โรงเรียน : การนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ.2551สู่การปฏิบัติ

       ในปีการศึกษา  2553  ทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษา  เราจะต้องพัฒนาผู้เรียนทุกคน ให้เป็นคนดี  มีปัญญา  มีความสุข  ตามจุดหมายของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551   ดังนั้นครูประถมศึกษาจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ตลอดจนตัวชี้วัดชั้นปี   ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อจะช่วยให้ผู้เรียนมีสมรรถนะสำคัญ  และคุณลักษณะอันพึงประสงค์          ครูผู้สอนจำเป็นต้องเข้าใจและอธิบายได้ในความหมาย  รายละเอียดของคำต่างๆ ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน     เช่น
      วิสัยทัศน์
      หลักการ
      จุดหมาย
       สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
       คุณลักษณะอันพึงประสงค์
       มาตรฐานการเรียนรู้
       ตัวชี้วัดชั้นปี
       สาระการเรียนรู้  กลุ่มสาระการเรียนรู้
       สาระและมาตรฐานการเรียนรู้
              ฯลฯ
         สำหรับโรงเรียนที่ต้องการรายละเอียดดังกล่าว  มีแหล่งข้อมูลหลายแห่ง  กลุ่มนิเทศ ติดตาม
และประเมินผลการจัดการศึกษา  ของสพท. รบ .1   เป็นแห่งหนึ่งที่ครูสามารถ  Download  ข้อมูลได้  
เพื่อพวกเราจะพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพตามเป้าหมายของหลักสูตรในปีการศึกษา  2553   ที่จะมาถึง
ในเร็วๆ  นี้

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

คุณภาพนักเรียน : โครงการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน

          โรงเรียนที่เป็นศูนย์อาเซียนศึกษา   ของสพท. รบ.1(โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา  และโรงเรียนบ้าน
ตะโกล่าง)  ในปีการศึกษา 2553   จะต้องจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนานักเรียนสู่ประชาคมอาเซียน   คือ
           กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรมนักเรียนของโรงเรียนต้องมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน  เอื้ออาทรและแบ่งปัน เข้าใจตนเองและผู้อื่น  ยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ค่านิยม  ความเชื่อ  และนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิต  เพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างมีความสุข  
          กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ นักเรียนของโรงเรียนจะต้องมีเจตคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษ / ภาษาต่างประเทศที่  2  เพื่อการสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆ แส่วงหาความรู้ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องราวและวัฒนธรรมที่หลากหลายของเจ้าของภาษา  และนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตในประชาคม
อาเซียน
          แนวการจัดการเรียนรู้   การจัดการเรียนรู้เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้   จัดการเรียนรู้โดยใช้การบูรณาการ   ปรับเปลี่ยนกิจกรรมได้ตามความ
เหมาะสม    และออกแบบการจัดการเรียนรู้ โดยเลือกใช้วิธีสอนและเทคนิคการสอน  สื่อ แหล่งเรียนรู้  
การวัดประเมินผลที่หลากหลายตามสภาพจริง
        

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักเรียนสู่ประชาคมอาเซียน

           ในปีการศึกษา  2553  มีโรงเรียนที่เป็นตัวอย่างการพัฒนาการเรียนการสอนให้กับนักเรียนสู่ประชาคมอาเซียน    คือโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา  และโรงเรียนบ้านตะโกล่าง ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี  เขต 1 สำหรับเป้าหมายของการพัฒนานักเรียนสู่ประชาคมอาเซียน  เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมนักเรียนสู่ประชาคมอาเซียนโดยมีเป้าหมาย     ที่ต้องการให้เกิดกับนักเรียนตามระดับชั้นต่างๆ ดังนี้
          นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4-6   เข้าใจและอธิบายความรู้พื้นฐานกี่ยวกับอาเซียน
          นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่   1-3   ปฏิบัติตนและเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับอาเซียน
          นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่    4-6   ตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียนและเผยแพร่
          ทั้งหมดที่กล่าวจะเห็นได้ว่า  เป้าหมายที่สำคัญ คือต้องการพัฒนาโรงเรียนที่มีความพร้อมและศักยภาพ ให้จัดการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน  เพื่อให้นักเรียนมีความตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียน  มีความรู้ความเข้าใจ  จนกระทั่งปฏิบัตตน และเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับอาเซียน 

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

ศูนย์อาเซียนศึกษา โรงเรียน Buffer School

         สพท.รบ. 1  มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียนศึกษาที่โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา  กับโรงเรียนบ้าน
ตะโกล่าง   ที่เรียกว่าเป็นโรงเรียน  Buffer  School   ขณะนี้กำลังดำเนินการไปสู่เป้าหมาย ที่ทางสพฐ.  ได้กำหนดไว้    ต่อไปโรงเรียนดังกล่าวจะเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียนศึกษาสำหรับนักเรียน  ครู  ประชาชน   มีบทบาทดังนี้
         1)  จัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา
         2)  จัดทำสื่อต้นแบบ
         3)  จัดจ้างที่ปรึกษาพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา จัดหาสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีพหุวัฒนธรรม  เพื่อทำหน้าที่ ดังนี้
                จัดกิจกรรมพัฒนาหลักสูตรแบบเข้ม
                 พัฒนากระบวนการเรียนรู้ วัดและประเมินผล
                 พัฒนาสื่อการเรียนรู้
                 พัฒนาการเรียนรู้สู่ประชาชนในชุมชน
          4) จัดจ้างเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อาเซียนศึกษา  มีความรู้ขั้นต่ำระดับปริญญาตรี/ โท มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ / ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน  การใช้ ICT  ในการประสานงาน  ให้บริการการจัดกิจกรรมอาเซียนศึกษาในโรงเรียน และเครือข่ายพื้นที่ใกล้เคียง
           5) จัดกิจกรรมค่ายวิชาการให้ความรู้เรื่องประชาคมอาเซียน
                

วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ดูการสอนแบบ Montessori ที่โรงเรียนอนุบาลวัดเพลง

                 คณะศึกษานิเทศก์ของสพท. รบ.1 ได้ไปเยี่ยมและดูการสอนแบบ Montessori   ในห้องเรียนของอาจารย์ กรรณิกฯา  กระกรกุล ที่โรงเรียนอนุบาลวัดเพลง   จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กเล็กๆแล้วน่าภูมิใจที่เด็กมีสมาธิ   มีความมุ่งมั่นในการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ  ได้ด้วยตัวเอง   ไม่ส่งเสียงดังขณะทำกิจกรรม  เด็กร่วมมือทำงานกันอย่างมีสมาธิ      ฯลฯ   ได้สอบถามและพูดคุยกับอาจารย์กรรณิกา
แล้ว  อาจารย์ได้ใช้หลักการและวิธีการของ Montessori  มาเป็นเวลาประมาณหนึ่งปี   หลักการที่ว่าคือ
                 หนึ่ง  เด็กจะต้องได้รับการยอมรับนับถือ  ในสภาพที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่
                 สอง  เด็กมีจิตที่ซึมซาบได้ เด็กมีจิตเหมือนฟองน้ำซึ่งจะซึมซาบข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม
                 สาม  ช่วงเวลาหลักของชีวิตคือ  ช่วงเวลาในระยะแรกของชีวิต
                 สี่       การเตรียมสิ่งแวดล้อม เด็กเรียนได้ดีที่สุดในสภาพการจัดสิ่งแวดล้อมที่ได้ตระเตรียมเอาไว้อย่างมีจุดหมาย
                 ห้า     การศึกษาด้วยตนเอง  เด็กสามารถเรียนได้ด้วยตนเองจากการที่เด็กมีอิสระในสิ่งแวดล้อมที่จัดเตรียมเอาไว้อย่างสมบูรณ์
                  สภาพที่ปรากฎให้พวกเราได้เห็นไม่ใช่สิ่งที่เริ่มทำ  แต่อาจารย์ผู้สอนได้ทำมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงจะเกิดผล    ถ้าใครจะได้ลองนำหลักการดังกล่าวไปใช้บ้างคงจะเกิดผลได้เช่นเดียวกัน

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การจัดการเรียนการสอนแบบ Montessori ในโรงเรียนสพท. รบ 1

      สพท.รบ . 1 มีโรงเรียนที่ทดลองใช้การเรียนการสอนแบบ Montessori  ระดับชั้นอนุบาล ในโรงเรียนอนุบาลวัดเพลง  โรงเรียนอนุบาลบ้านคา  และโรงเรียนประชาพัฒนาวิทย์    โดยที่ครูในโรงเรียนดังกล่าวเข้ารับการอบรมด้านวิธีการสอนซึ่งสพฐ.ดำเนินการเชิญวิทยากรชาวต่างชาติมาให้การอบรม   การจัดการเรียนการสอนแบบ Montessori  มีบทบาทสำคัญในประเทศไทย  เมื่อพ.ศ.  2547 เป็นโครงการนำร่องการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนโดยการสอนแบบ Montessori   เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กโดยดำริของคุณหญิงกษมา  วรวรรณ  จึงได้มีหลักสูตรMontessori  สากลรุ่นแรกในประเทศไทย  ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับองค์กรวิชาชีพ  Montessori สากล  และ สมาคมผู้บริหารMontessoriอเมริกาเหนือ ด้วยการสนับสนุนของสมาคมโรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทยและสมาคมMontessori  แห่งประเทศไทย      ได้เปิดหลักสูตรสำหรับครูปฐมวัย   เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียน  ณ สถาบันพัฒนาครู  ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา  จังหวัดนครปฐม   เป็นการอบรมรุ่นที่  2    อบรมช่วงแรก ระหว่างวันที่  29  มีนาคม  2552 ถึง  วันที่ 1 พฤษภาคม  2552   การอบรมครั้งนี้ครูปฐมวัยของทั้ง 3 โรงเรียนได้เข้าร่วมการอบรมและได้นำวิธีการสอนแบบ Montessori  มาทดลองใช้ในปัจจุบัน  และเพื่อนำข้อมูลไปประกอบการอบรมในช่วงต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เทคนิค/วิธีเพื่อการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก

          การที่จะทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูจะต้องรู้จักวิธีการอบรมเลี้ยงดูด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งจำเป็นในการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและร่วมมือกันระหว่างบ้านและโรงเรียน วิธีที่ควรนำไปใช้มีดังนี้
         1.ฝึกทักษะการสังเกต   ให้เด็กได้รู้จักการสังเกตรายละเอียดต่างๆให้มากที่สุด   สังเกตความเปลี่ยนแปลง  ความแปลกใหม่  สภาพความเป็นไปรอบตัว   การได้พบกับบรรยากาศและเล่าถึงสิ่งที่ได้พบเห็น
การรู้จักเชื่อมโยงสิ่งที่พบกับประสบการณ์เดิม    การคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  โดยให้เด็กได้สังเกต  รับรู้  จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า  ได้แก่  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  และการใช้การสัมผัสทางกาย
         2.การใช้คำถามโดยให้เด็กคิดหาคำตอบ     ซึ่งจะต้องเป็นคำถามให้เด็กได้อธิบาย  จำแนก  เปรียบเทียบ  จัดหมวดหมู่   การให้เหตุผล   การแก้ปัญหา  การวิเคราะห์    คำถามดังกล่าวทำได้ตั้งแต่เด็กเล็กๆ
เช่น คำถามว่า  ทำไม  อย่างไร   เพราะอะไร   ฯลฯ
         3.การให้เด็กทำงานศิลปะต่างๆ   เช่น  งานประดิษฐ์   การวาดภาพ  การฉีกปะ  การตัดหรือฉีกกระดาษ

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทบาทของโรงเรียน Buffer School

     Buffer  School  มีบทบาทที่จะต้องดำเนินการดังนี้
             1.  จัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา
             2.  จัดทำสื่อต้นแบบ
             3.  จัดที่ปรึกษาพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา  จัดหาสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีพหุวัฒนธรรม  เพื่อทำหน้าที่ดังนี้
                      -จัดกิจกรรมพัฒนาหลักสูตรแบบเข้ม
                      -พัฒนากระบวนการเรียนรู้  วัด  และประเมินผล
                      -พัฒนาสื่อการเรียนรู้
                      -พัฒนาการเรียนรู้สู่ประชาชนในชุมชน
             4.  จัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อาเซียนศึกษา
             5.   จัดกิจกรรมค่ายวิชาการให้ความรู้เรื่อง  ประชาคมอาเซียน

โรงเรียน Buffer School

โรงเรียนในสพท .รบ.1 มีโรงเรียนที่เป็นโรงเรียน Buffer School คือโรงเรียนบ้านตะโกล่าง และสวนผึ้งวิทยา สำหรับโรงเรียนดังกล่าว เริ่มอยู่ในโครงการพัฒนาประชาคมอาเซียน Spirit of ASEAN : Buffer School ในปีการศึกษา 2553 มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาโรงเรียนที่มีความพร้อมและศักยภาพในการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เป็นศูนย์การเรียนรู้อาเซียน และมีศักยภาพในการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนัก เตรียมเยาวชนไทย รวมถึงชุมชนที่รายรอบโรงเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนได้อย่างมึคุณภาพ สำหรับ Buffer School เป้าหมายคือ เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับ


นักเรียน ครู ประชาชน จัดหาและพัฒนาสื่อ หนังสือเกี่ยวกับประขชาคมอาเซียน จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ ให้บริการแก่สถานศึกษาในเครือข่าย พัฒนาการเรียนรู้อาเซียนศึกษา และประสานสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย บทบาทและหน้าที่หลักดังกล่าวโรงเรียนทั้งสองจะต้องเริ่มทำและสามารถเป็นตัวอย่างได้ โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรแบบเข้ม ตลอดจนกระบวนการเรียนการสอนเกี่ยวกับอาเซียนศึกษาต่อไป
ทดลอง

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

ความสำคัญของครอบครัว ชุมชนต่อความเป็นคนดีของเด็ก

                     ครอบครัว  และชุมชนมีผลต่อความเป็นคนดีของเด็ก  หรือความเป็นคนดีของมนุษย์ก็ว่าได้
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะว่า
                     -   พ่อแม่ผู้ปกครอง  คือ  ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจเด็กดีที่สุด  ดังนี้นจึงเป็นช่องทางที่สำคัญที่จะร่วมกันสร้างองค์ความรู้ ให้เกิดแก่เด็กปฐมวัย     และเป็นผู้ที่สำคัญในการร่วมแก้ปัญหาพฤติกรรมต่างๆที่เกิดกับเด็ก
                      -   เป็นผู้ร่วมสร้างวินัย   ใฝ่รู้  ให้เด็กปฐมวัยด้วยการสนับสนุนและจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการปรับพฤติกรรมของเด็ก  ให้มีพฤติกรรมตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ
                      -  เป็นผู้มีศักยภาพในการสนับสนุน  การจัดและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็ก
                      -  เป็นปัจจัยเอื้อในการเรียนรู้ของเด็ก  ทั้งบุคลิกภาพ  นิสัยใจคอที่ดีให้เกิดแก่เด็ก  ความขยัน  ประหยัด  ซื่อสัตย์  สามัคคี  และมีน้ำใจ
                      -  เป็นผู้มีความสำคัญต่อการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก
                          ครอบครัว   ชุมชนจึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการสร้างคนให้เป็นคนดีของสังคม

การจัดประสบการณ์/กระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมสำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กปฐมวัยนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มตั้งแต่เล็ก โดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม มีการเรียนรู้อย่างถูกต้อง มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ที่กล่าวนี้เป็นเรื่องหลักๆ สำหรับกรอบความคิดที่เกี่ยวข้องพอจะ สรุปได้ดังนี้

1. การจัดประสบการณ์ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย

2. มีการจัดประสบการณ์ที่หลากหลาย ในบรรยากาศของการเล่น เด็กมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน

3. สื่อการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญต่อการจัดการเรียนรู้

4. นิทานคือ กระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในการปลูกฝังด้านคุณธรรม จริธรรม

5. กระบวนการเรียนรู้ต้องเอื้อให้เด็กได้ปฏิบัติจริง

6. กระบวนการกลุ่มต้องชัดเจน

7. กระบวนการเรียนรู้ต้องดึงความสามารถของเด็กแต่ละคนออมานำเสนอเป็น "คุณค่า" ต่อตัวเด็ก

8. ให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมการจัดทำสื่อ เพื่อสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรุ้ของเด็กเอง
9. ในการจัดกระบวรการเรียนรู้ต้องมีการเตรียมความพร้อมของครู เด็ก และบรรยากาศในการเรียนรู้ที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กแต่ละคนผ่านการเล่น

10. มีความยืดหยุ่นในการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามความเหมาะสมของวัย กลุ่มเด็ก และรายบุคคล



จากข้างต้นที่กล่าวพอเป็นแนวทางให้กับครูได้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่เด็กต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาประสาทสัมผัสในเด็ก

            การที่จะให้เด็กเล็กได้พัฒนาการเรียนรู้  ก่อนอื่นต้องฝึกให้เด็กได้รับรู้สิ่งต่างๆรอบตัวเด็กก่อน  สิ่งที่สำคัญคือให้เด็กได้รู้ผิวสัมผัสที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย  การให้เด็กได้สัมผัสด้วยประสาทสัมผัสต่างๆ  ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางอารมณ์   เด็กจะมีความมั่นคงทางอารมณ์  รู้จักยอมรับความแตกต่าง  ควบคุมอารมณ์ได้  เกิดความมั่นใจในการเข้ากลุ่มเพื่อน   ฯลฯ    กิจกรรมการพัฒนาผิวสัมผัส  ได้แก่
            1.  การสัมผัส  ถู  นวด บริเวณแขน  ลำตัว  หลัง  ขา  โดยใช้วัสดุต่างๆ   ครูหรือผู้ปกครองอาจใช้ฟองน้ำนิ่มสำหรับถูตัว  ใช้ขัดตัว  โดยกดหรือสัมผัสตัวเด็กให้มีน้ำหนักมากพอสมควร
            2.  การระบายสีด้วยนิ้วมือ  ฝ่ามือ
            3.  การวาดรูปด้วยสบู่บนพื้นฟอร์ไมก้าโดยใช้นิ้ว
            4.  การวาดรูปด้วยนิ้วมือบนแขน  ขา  ลำตัว  หลัง
            5.  การเล่นทราย
            6.  การฝนสีด้วยกระดาษทราย
            7.  การนวดแป้ง  ดินน้ำมัน
            8.  การให้เด็กมีโอกาสสัมผัสรับรู้วัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกัน
            9.  การจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะที่เปิดโอกาสให้เด็กถอดรองเท้าสัมผัสกับพื้นผิว
ที่ต่างกัน
           10. การรับรู้อุณหภูมิต่างกันของวัตถุ

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

มารู้จักสมองก่อนพัฒนากระบวนการคิด

     การจะพัฒนากระบวนการคิด  ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีความเข้าใจและมีความรู้ในเรื่องสมองเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย   โดยจะต้องเข้าใจว่า  เซลล์สมองจำนวนเท่ากัน  ถ้าไม่ได้รับการกระตุ้นตั้งแต่วัยเด็กจะไม่แตกเส้นใยสมอง  ไม่ต่อเชื่อมเส้นใยสมอง  รวมทั้งไม่สร้างส่วนห่อหุ้มเส้นใย   ทำให้ปัญญาทึบ  เรียนยาก  เฉื่อยชา  คิดช้า  คิดไม่เชื่อมโยง  ถ้าได้รับการกระตุ้นตั้งแต่แรกเกิด  จะทำให้ใยประสาทแตกกิ่งก้านสาขาออกมากมายเชื่อมต่อกัน   และมีส่วนห่อหุ้ม  ทำให้เป็นคนฉลาด  เรียนรู้ง่าย   ว่องไว  เข้าใจเหตุผลได้มากกว่า   สิ่งที่กล่าวข้างต้นนี้จะเกิดกับคนเราได้นั้นต้อง  ให้ความรู้กับพ่อแม่  ผู้ปกครอง  ครูโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูปฐมวัย  เมื่อมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ต้องฝึกทักษะให้เด็กได้พัฒนาตามวัยของเขา  เซลล์สมองของเด็กจะเจริญเต็มที่เมื่ออายุ 0-3  ปี  ถึงร้อยละ  80   ซึ่งเป็นวัยทองของชีวิต   หากปล่อยเวลาไปโดยไม่พัฒนาตามวัยแล้ว  ก็ถือว่าน่าเสียดายเป็นอย่างมาก 

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553

การส่งเสริมการคิดแก้ปัญหา

             สำหรับการคิดแก้ปัญหานั้นเป็นการคิดที่ต้องใข้ความสามารถของสมองและประสบการณ์เดิม  เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาจึงเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักในการที่จะส่งเสริมให้เด็กได้มีทักษะในการคิดแก้ปัญหา  สำหรับแนวทางในการส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาพอจะกล่าวได้ดังนี้
            1. การให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก  ทำให้เด็กมีความรู้สึกปลอดภัย  มีความสุข  มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมองโลกในแง่ดี
            2. เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น  และตัดสินใจ  เพื่อช่วยให้เด็กกล้าแสดงออก  และมีความเชื่อมั่นในตนเอง
            3.ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต  โดยการจัดประสบการณ์ให้มีการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง  5   เพื่อการรับรู้ในทุกด้าน มีผู้ใหญ่คอยให้การสนับสนุนและคอยดูแลช่วยเหลือ
            4.ส่งเสริมให้เด็กได้ช่วยเหลือตนเองให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการด้านบุคลิกภาพคือความเชื่อมั่นในตนเองทำให้ส่งผลต่อการคิดแก้ปัญหาของเด็ก
            5.แสดงความชื่นชมเมื่อเด็กทำในสิ่งที่ดีงามและทำให้เด็กเกิดความมั่นใจเมื่อเด็กทำ
สิ่งที่ดีงาม
อันจะทำให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง  และมีกำลังใจในการจะทำความดีและสิ่งดีงาม
            6.จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดแก้ปัญหาของเด็ก  และมีบรรยากาศที่ทำให้เด็กได้รู้สึกสบายใจ  ไม่เคร่งเครียด  สภาพแวดล้อมดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทักษะการคิด
            ทั้งหมดนี้คงจะเป็นแนวทางในการที่พัฒนาความคิดแก้ปัญหาสำหรับเด็กของเราได้ต่อไป