วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

ความสำคัญของครอบครัว ชุมชนต่อความเป็นคนดีของเด็ก

                     ครอบครัว  และชุมชนมีผลต่อความเป็นคนดีของเด็ก  หรือความเป็นคนดีของมนุษย์ก็ว่าได้
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะว่า
                     -   พ่อแม่ผู้ปกครอง  คือ  ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจเด็กดีที่สุด  ดังนี้นจึงเป็นช่องทางที่สำคัญที่จะร่วมกันสร้างองค์ความรู้ ให้เกิดแก่เด็กปฐมวัย     และเป็นผู้ที่สำคัญในการร่วมแก้ปัญหาพฤติกรรมต่างๆที่เกิดกับเด็ก
                      -   เป็นผู้ร่วมสร้างวินัย   ใฝ่รู้  ให้เด็กปฐมวัยด้วยการสนับสนุนและจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการปรับพฤติกรรมของเด็ก  ให้มีพฤติกรรมตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ
                      -  เป็นผู้มีศักยภาพในการสนับสนุน  การจัดและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็ก
                      -  เป็นปัจจัยเอื้อในการเรียนรู้ของเด็ก  ทั้งบุคลิกภาพ  นิสัยใจคอที่ดีให้เกิดแก่เด็ก  ความขยัน  ประหยัด  ซื่อสัตย์  สามัคคี  และมีน้ำใจ
                      -  เป็นผู้มีความสำคัญต่อการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก
                          ครอบครัว   ชุมชนจึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการสร้างคนให้เป็นคนดีของสังคม

การจัดประสบการณ์/กระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมสำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กปฐมวัยนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มตั้งแต่เล็ก โดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม มีการเรียนรู้อย่างถูกต้อง มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ที่กล่าวนี้เป็นเรื่องหลักๆ สำหรับกรอบความคิดที่เกี่ยวข้องพอจะ สรุปได้ดังนี้

1. การจัดประสบการณ์ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย

2. มีการจัดประสบการณ์ที่หลากหลาย ในบรรยากาศของการเล่น เด็กมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน

3. สื่อการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญต่อการจัดการเรียนรู้

4. นิทานคือ กระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในการปลูกฝังด้านคุณธรรม จริธรรม

5. กระบวนการเรียนรู้ต้องเอื้อให้เด็กได้ปฏิบัติจริง

6. กระบวนการกลุ่มต้องชัดเจน

7. กระบวนการเรียนรู้ต้องดึงความสามารถของเด็กแต่ละคนออมานำเสนอเป็น "คุณค่า" ต่อตัวเด็ก

8. ให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมการจัดทำสื่อ เพื่อสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรุ้ของเด็กเอง
9. ในการจัดกระบวรการเรียนรู้ต้องมีการเตรียมความพร้อมของครู เด็ก และบรรยากาศในการเรียนรู้ที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กแต่ละคนผ่านการเล่น

10. มีความยืดหยุ่นในการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามความเหมาะสมของวัย กลุ่มเด็ก และรายบุคคล



จากข้างต้นที่กล่าวพอเป็นแนวทางให้กับครูได้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่เด็กต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาประสาทสัมผัสในเด็ก

            การที่จะให้เด็กเล็กได้พัฒนาการเรียนรู้  ก่อนอื่นต้องฝึกให้เด็กได้รับรู้สิ่งต่างๆรอบตัวเด็กก่อน  สิ่งที่สำคัญคือให้เด็กได้รู้ผิวสัมผัสที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย  การให้เด็กได้สัมผัสด้วยประสาทสัมผัสต่างๆ  ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางอารมณ์   เด็กจะมีความมั่นคงทางอารมณ์  รู้จักยอมรับความแตกต่าง  ควบคุมอารมณ์ได้  เกิดความมั่นใจในการเข้ากลุ่มเพื่อน   ฯลฯ    กิจกรรมการพัฒนาผิวสัมผัส  ได้แก่
            1.  การสัมผัส  ถู  นวด บริเวณแขน  ลำตัว  หลัง  ขา  โดยใช้วัสดุต่างๆ   ครูหรือผู้ปกครองอาจใช้ฟองน้ำนิ่มสำหรับถูตัว  ใช้ขัดตัว  โดยกดหรือสัมผัสตัวเด็กให้มีน้ำหนักมากพอสมควร
            2.  การระบายสีด้วยนิ้วมือ  ฝ่ามือ
            3.  การวาดรูปด้วยสบู่บนพื้นฟอร์ไมก้าโดยใช้นิ้ว
            4.  การวาดรูปด้วยนิ้วมือบนแขน  ขา  ลำตัว  หลัง
            5.  การเล่นทราย
            6.  การฝนสีด้วยกระดาษทราย
            7.  การนวดแป้ง  ดินน้ำมัน
            8.  การให้เด็กมีโอกาสสัมผัสรับรู้วัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกัน
            9.  การจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะที่เปิดโอกาสให้เด็กถอดรองเท้าสัมผัสกับพื้นผิว
ที่ต่างกัน
           10. การรับรู้อุณหภูมิต่างกันของวัตถุ

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

มารู้จักสมองก่อนพัฒนากระบวนการคิด

     การจะพัฒนากระบวนการคิด  ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีความเข้าใจและมีความรู้ในเรื่องสมองเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย   โดยจะต้องเข้าใจว่า  เซลล์สมองจำนวนเท่ากัน  ถ้าไม่ได้รับการกระตุ้นตั้งแต่วัยเด็กจะไม่แตกเส้นใยสมอง  ไม่ต่อเชื่อมเส้นใยสมอง  รวมทั้งไม่สร้างส่วนห่อหุ้มเส้นใย   ทำให้ปัญญาทึบ  เรียนยาก  เฉื่อยชา  คิดช้า  คิดไม่เชื่อมโยง  ถ้าได้รับการกระตุ้นตั้งแต่แรกเกิด  จะทำให้ใยประสาทแตกกิ่งก้านสาขาออกมากมายเชื่อมต่อกัน   และมีส่วนห่อหุ้ม  ทำให้เป็นคนฉลาด  เรียนรู้ง่าย   ว่องไว  เข้าใจเหตุผลได้มากกว่า   สิ่งที่กล่าวข้างต้นนี้จะเกิดกับคนเราได้นั้นต้อง  ให้ความรู้กับพ่อแม่  ผู้ปกครอง  ครูโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูปฐมวัย  เมื่อมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ต้องฝึกทักษะให้เด็กได้พัฒนาตามวัยของเขา  เซลล์สมองของเด็กจะเจริญเต็มที่เมื่ออายุ 0-3  ปี  ถึงร้อยละ  80   ซึ่งเป็นวัยทองของชีวิต   หากปล่อยเวลาไปโดยไม่พัฒนาตามวัยแล้ว  ก็ถือว่าน่าเสียดายเป็นอย่างมาก 

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553

การส่งเสริมการคิดแก้ปัญหา

             สำหรับการคิดแก้ปัญหานั้นเป็นการคิดที่ต้องใข้ความสามารถของสมองและประสบการณ์เดิม  เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาจึงเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักในการที่จะส่งเสริมให้เด็กได้มีทักษะในการคิดแก้ปัญหา  สำหรับแนวทางในการส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาพอจะกล่าวได้ดังนี้
            1. การให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก  ทำให้เด็กมีความรู้สึกปลอดภัย  มีความสุข  มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมองโลกในแง่ดี
            2. เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น  และตัดสินใจ  เพื่อช่วยให้เด็กกล้าแสดงออก  และมีความเชื่อมั่นในตนเอง
            3.ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต  โดยการจัดประสบการณ์ให้มีการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง  5   เพื่อการรับรู้ในทุกด้าน มีผู้ใหญ่คอยให้การสนับสนุนและคอยดูแลช่วยเหลือ
            4.ส่งเสริมให้เด็กได้ช่วยเหลือตนเองให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการด้านบุคลิกภาพคือความเชื่อมั่นในตนเองทำให้ส่งผลต่อการคิดแก้ปัญหาของเด็ก
            5.แสดงความชื่นชมเมื่อเด็กทำในสิ่งที่ดีงามและทำให้เด็กเกิดความมั่นใจเมื่อเด็กทำ
สิ่งที่ดีงาม
อันจะทำให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง  และมีกำลังใจในการจะทำความดีและสิ่งดีงาม
            6.จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดแก้ปัญหาของเด็ก  และมีบรรยากาศที่ทำให้เด็กได้รู้สึกสบายใจ  ไม่เคร่งเครียด  สภาพแวดล้อมดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทักษะการคิด
            ทั้งหมดนี้คงจะเป็นแนวทางในการที่พัฒนาความคิดแก้ปัญหาสำหรับเด็กของเราได้ต่อไป